ทรูวิชั่นส์ ชี้แจงข้อคัดค้าน (ร่าง)ประกาศฯ หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์
ทรูวิชั่นส์ ชี้แจงข้อคัดค้าน (ร่าง)ประกาศฯ หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์
5 พฤศจิกายน 2557 – วันนี้ บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ได้แสดงความคิดเห็นของ บริษัทฯ ที่มีต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พ.ศ. ...... ในเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ที่จัดขึ้น โดยชี้แจงประเด็นต่างๆ เช่น การนำช่องรายการของบริษัทฯ ไปให้ดิจิตอลทีวีออกอากาศ เสมือนกับการริบทรัพย์สิน ของบริษัทฯ กสทช. เลือกปฏิบัติระหว่างผู้ประกอบการของ กสทช. กับผู้ประกอบการเคเบิลดาวเทียม (ร่าง) ประกาศดังกล่าว ไม่ได้ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ได้อย่างทั่วถึง และไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้ง ยังเป็นการผลักภาระการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอลมายังผู้ให้บริการเคเบิลดาวเทียม
บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด มอบหมายให้ นางศุภสรณ์ โหรชัยยะ เป็นผู้แทน บริษัทฯ แสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศฯ หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ ดังนี้
-
การนำช่องรายการของบริษัทฯ ไปให้ดิจิตอลทีวีออกอากาศ ไม่ต่างอะไรกับการริบทรัพย์สิน เลขช่องรายการโทรทัศน์ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบกิจการโทรทัศน์ ยิ่งเป็นเลขช่องที่อยู่ในลำดับ ต้นๆ ยิ่งมีมูลค่าในเชิงธุรกิจ ในทางกฎหมายถือว่าช่องรายการของเคเบิลและดาวเทียมเป็น “ทรัพย์สิน” ประเภทหนึ่ง ที่ผู้ประกอบกิจการเคเบิลดาวเทียม รวมถึงบริษัทฯ มีสิทธิใช้ประโยชน์และบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่ การที่ กสทช. มากำหนดหลักเกณฑ์ห้ามไม่ให้บริษัทฯ ใช้ทรัพย์สินของบริษัทฯ แต่กลับนำทรัพย์สินของบริษัทฯ ไปให้คู่แข่งใช้นั้น ก็ไม่ต่างอะไรจากการริบทรัพย์สินของบริษัทฯ
ตัวอย่างเช่น บริษัทฯ สร้างโรงแรมจำนวนห้อง 200 ห้อง เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าของโรงแรมเอง แต่ ภาครัฐ ก็ยึดและสั่งไล่ลูกค้าของโรงแรมออกไป 36 ห้อง โดยเลือกห้องที่ดีที่สุดและแพงที่สุด แล้วนำไปให้ผู้ประกอบการโรงแรมรายอื่นเข้ามาทำธุรกิจแข่งกับบริษัทฯ โดยที่บริษัทไม่ได้ค่าเช่า นอกจากนี้ บริษัทฯ ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าบำรุงรักษาเพื่อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการรายอื่น แถมยังต้องรับผิดชอบการกระทำของผู้ประกอบการรายที่เข้ามาอยู่นั้น เช่น หากนำห้องที่ถูกริบไปดำเนินกิจการที่ไม่ถูกกฎหมาย บริษัทฯ กลับเป็นผู้ต้องรับผิดในการกระทำ โดยไม่สามารถเข้าไปควบคุมหรือแก้ไขใดๆ ได้
ตามรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายอาญา การริบทรัพย์สินต้องมีกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติให้อำนาจในการริบทรัพย์สินไว้ และผู้ที่จะสั่งริบทรัพย์สินได้ต้องเป็นศาลเท่านั้น กรณีเช่นนี้อาจมีข้อครหาได้ว่า กสทช. ซึ่งไม่ใช่ศาล ริบช่องรายการโทรทัศน์อันเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย
-
การเลือกปฏิบัติระหว่างผู้ประกอบการของ กสทช.
ในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านจากการให้บริการในระบบอนาล็อกไปสู่การให้บริการในระบบดิจิตอล กสทช. มีหน้าที่
1) จัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ผู้ให้บริการดิจิตอลทีวี ผ่านการประมูลคลื่นความถี่
2) กำกับดูแลผู้ที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ในขณะที่ ผู้ให้บริการโทรทัศน์เคเบิลดาวเทียม ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการที่บอกรับสมาชิกโดยไม่ได้ใช้คลื่นความถี่ หรืออาศัยทรัพยากรใดๆ จาก กสทช. อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการโทรทัศน์เคเบิลดาวเทียมมีภาระต้องลงทุนและพัฒนาระบบการให้บริการด้วยงบประมาณของตนเองจำนวนมหาศาล เพื่อให้บริการที่ดีที่สุดแก่สมาชิก
อาจมีข้อครหาได้ว่า การที่ กสทช. กลับช่วยเหลือเฉพาะผู้ประกอบการดิจิตอลทีวีที่จ่ายเงินประมูลแก่ กสทช. โดยผลักภาระให้แก่ผู้ประกอบการเคเบิลดาวเทียม เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ดิจิตอลทีวี และเป็นการออกกฎระเบียบสองมาตรฐาน (double standard) เลือกให้ประโยชน์กับผู้ประกอบการประเภทหนึ่งมากกว่าอีกประเภทหนึ่ง สร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการที่จ่ายเงินให้กับ กสทช. มากกว่ารายอื่นๆ เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ไม่ชอบ
-
ร่างประกาศไม่ได้ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ได้อย่างทั่วถึง
การที่ กสทช อ้างว่า การนำช่องรายการดิจิตอลทีวี มาออกอากาศบนโครงข่ายของเคเบิลดาวเทียม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ได้อย่างทั่วถึงนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น หาก กสทช. ต้องการให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ก็ควรกำหนดให้ ช่องรายการเคเบิลดาวเทียมอีกมากมายที่มีประโยชน์มาออกอากาศบนโครงข่ายของดิจิตอลทีวีเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลด้วย
-
การผลักภาระการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอลมายังผู้ให้บริการเคเบิลดาวเทียม
อาจมีข้อครหาว่า เหตุความยุ่งยากและความเสียหายต่อวงการโทรทัศน์ไทยที่เกิดขึ้นทุกวันนี้และที่จะเกิดในอนาคตนั้น เกิดจากความผิดพลาดจากการวางแผนและบริหารงานของ กสทช. ที่ลุกลี้ลุกลนเร่งเปิดประมูลดิจิตอลทีวีและบังคับให้ช่องรายการดิจิตอลทีวีออกอากาศหลังประมูล 4 เดือน ทั้งๆ ที่ กสทช. ยังไม่ได้จัดให้มีโครงข่ายดิจิตอลทีวีและเครื่องรับให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งแตกต่างจากการเปลี่ยนแผนระบบดิจิตอลทีวีในต่างประเทศ เช่น ในประเทศอังกฤษ ใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลกว่า 14 ปี ใช้เจ้าหน้าที่หลายหมื่นคนเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน มีสถานีดิจิตอลทีวีครอบคลุมทั่วประเทศเป็นพันสถานี แทนที่ กสทช. จะเร่งขยายโครงข่าย ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ รวมทั้ง แจกจ่ายกล่องดิจิตอลทีวีให้แก่ประชาชนตามขั้นตอน กสทช. กลับเร่งดำเนินการประมูลอย่างร้อนรนแล้วโยนภาระให้ผู้ประกอบการเคเบิลดาวเทียมโดยอ้างประโยชน์สาธารณะซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
-
ประเด็นทางกฎหมายอื่นๆ
เนื่องจากร่างประกาศดังกล่าวยังมีประเด็นทางกฎหมายอีกหลายประการ ซึ่ง บริษัทฯ จะนำส่งความเห็นของบริษัทฯ ต่อร่างประกาศดังกล่าว เป็นลายลักษณ์อักษรภายในระยะเวลาที่ กสทช. กำหนดต่อไป
|